โลหะสัมฤทธิ์5
รายละเอียด :
โลหะสัมฤทธิ์ หรือเขียนว่า สำริด หมายถึงเนื้อโลหะผสมตามสูตรโบราณในการสร้างพระกริ่ง โดยมีหลักเกณฑ์ในการผสมโลหะ เพื่อให้เป็นสิริมงคล เป็นที่มาของโลหะผสมนี้เรียกว่า "สัมฤทธิ์"หรือ "สำริด" หมายถึงการสัมฤทธิ์ผล หรือสัมฤทธิ์ประโยชน์ตามความปรารถนา
โลหะสัมฤทธิ์เป็นมงคลโลหะที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาสร้างพระกริ่งตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยมีการหลอมโลหะธาตุบริสุทธิ์ อย่างน้อย 3ชนิด อย่างมากไม่เกิน9ชนิดดังนี้
-ชิน หนัก1บาท
-จ้าวน้ำเงิน หนัก2บาท
(แร่ชนิดหนึ่งมีสีเขียวปนน้ำเงิน)
-เหล็กละลายตัว หนัก3บาท
-บริสุทธิ์ หนัก4บาท
(หมายถึงทองแดงบริสุทธิ์)
-ปรอท หนัก5บาท
-สังกะสี หนัก6บาท
-ทองแดง หนัก7บาท
-เงิน หนัก8บาท
-ทองคำ หนัก9บาท
โดยโลหะ3ชนิดหลักที่ต้องใช้คือ ทองคำ เงิน และทองแดง
ตระกูลของสัมฤทธิ์ที่ถูกต้องตามสูตรโบราณมีอยู่ 5 ตระกูล ดังนี้
๑. สัมฤทธิ์ผล คือสัมฤทธิ์แดง
"สีแดง"
หรือตรีโลหะ มีมงคลความหมายถึง พระรัตนตรัยเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อสาม ผสมด้วยโลหะธาตุ ๓ ชนิด คือ ทองแดง เป็นส่วนใหญ่และเจือด้วยเงินกับทองคำ
สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะแดงคล้ายนาก แต่มีผิวเจือด้วยวรรณะคล้ำๆ คล้ายสีมะขามเปียก โบราณถือว่าเป็นมงคลวัตถุ อำนวยผลนานาประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเมตตามหานิยมพระพุทธรูปสมัยอู่ทองโดยเฉพาะพระพุทธรูปอู่ทองหน้าแก่มักสร้างด้วยเนื้อนี้
๒. สัมฤทธิ์โชติ คือสัมฤทธิ์เหลือง
"สีเหลือง"
หรือปัญจโลหะ เป็นโบราณนิยามหมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อห้า ประกอบด้วย
ปัญจโลหะ ได้แก่ส่วนผสมโลหะ ๕ อย่างดังต่อไปนี้คือ
๑. ดีบุก หนัก ๑ บาท
๒. ปรอท หนัก ๒ บาท
๓. ทองแดง หนัก ๓ บาท
๔. เงิน หนัก ๕ บาท
๕. ทองคำ หนัก ๕ บาท
มีวรรณะเหลืองคล้ายเนื้อกลองมโหระทึก หรือขันลงหิน มีแววนกยูงภายในเนื้อ
เป็นสัมฤทธิ์ที่ให้คุณหนักไปทางด้านลาภผล กับความสำเร็จ พระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยบางยุคและพระเชียงแสน พระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ บางรุ่น และพระกริ่งพระชัยวัฒน์ของท่านเจ้าคุณศรีสนธิ์บางรุ่นก็สร้างด้วยเนื้อนี้
๓. สัมฤทธิ์ศักดิ์ คือสัมฤทธิ์ขาว
"สีขาว"
หรือสัตตโลหะ เป็นมงคลนามหมายถึง โพชฌงค์ ๗ คือ องค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี ๗ ประการ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา
สัมฤทธิ์ศักดิ์เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเจ็ด
ประกอบด้วยสัตตะโลหะได้แก่ส่วนผสมโลหะ ๗ อย่างดังต่อไปนี้
๑. ดีบุก หนัก ๑ บาท
๒. สังกะสี หนัก ๒ บาท
๓. เหล็กละลายตัว หนัก ๓ บาท
๔. ปรอท หนัก ๔ บาท
๕. ทองแดง หนัก ๕ บาท
๖. เงิน หนัก ๖ บาท
๗. ทองคำ หนัก ๗ บาท
สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะหม่นคล้ำน้อยๆ แต่มีแวววรรณะขาวผสมผสานอยู่ นับถือกันว่าอำนวยผลในด้านอำนาจ มหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด
๔. สัมฤทธิ์คุณ คือสัมฤทธิ์เขียว
หรือนวโลหะ หมายถึงนัยของธรรมอันสูงสุดในพระศาสนา อันได้แก่ นวโลกุตรธรรม อันมี มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
สัมฤทธิ์คุณเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดช ประกอบด้วย
นวะโลหะได้แก่ผสมโลหะ ๙ อย่างดังต่อไปนี้
๑. ชิน หนัก ๑ บาท
๒. เจ้าน้ำเงิน หนัก ๒ บาท
๓. เหล็กละลายตัว หนัก ๓ บาท
๔. บริสุทธิ์ หนัก ๔ บาท
๕. ปรอท หนัก ๕ บาท
๖. สังกะสี หนัก ๖ บาท
๗. ทองแดง หนัก ๗ บาท
๘. เงิน หนัก ๘ บาท
๙. ทองคำ หนัก ๙ บาท
แต่สัมฤทธิ์ตระกูลนี้แก่ส่วนผสมของเนื้อเงินมากกว่าธรรมดา ฉะนั้น เนื้อภายในจึงมีวรรณะสีจำปาอ่อนหรือนากอ่อน แต่ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะถูกไอเหงื่อ จะมีวรรณะคล้ำเจือเขียวเตยหม่นแกมเหลืองอ่อนคล้ำมีแววขาวโดยตลอดเนื้อ สัมฤทธิ์ชนิดนี้อำนวยคุณวิเศษเช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดชทุกประการ
๕. สัมฤทธิ์เดช คือสัมฤทธิ์ดำ
"สีนากแก่กลับดำ"
หรือนวโลหะ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์คุณ แต่มีสัดส่วนการผสมได้เกณฑ์ถูกต้องตามมูลสูตรมากที่สุด ดังนั้นภายในจึงมีวรรณะจำปาแก่ หรือสีนากแก่ ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะต้องไอเหงื่อ จะดำสนิท ประหนึ่งนิลดำ เรียกกันว่า "สัมฤทธิ์เนื้อกลับ"
โบราณถือว่าสัมฤทธิ์นวโลหะทั้ง ๒ ประเภทนี้ เป็นสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ที่สุด หรือเป็นยอดของสัมฤทธิ์ อำนวยผลในด้านมหาอุตม์อันสูงส่ง คืออำนาจตบะเดชะ มหานิยม ลาภผล ความสำเร็จ คงกระพัน แคล้วคลาด ทุกประการ สูตรผสมเนื้อสัมฤทธิ์เดช หรือนวโลหะ ที่เป็นตำรับของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ยุคกรุงศรีอยุธยา ตกทอดมาอยู่กับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (มา) ครั้งยังเป็นพระมงคลทิพยมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ครั้งยังเป็นพระเทพโมลี ตามลำดับ
*****************************************************
ความรู้เรื่องโลหะหายากที่ประกอบสร้างพระกริ่ง
1.จ้าวน้ำเงิน
ไม่ใช่ทองคำขาว(platinum)ซึ่งมีจุดหลอมเหลวสูงมาก ไม่สามารถใช้เตาหลอมแบบโบราณได้เพราะความร้อนไม่ถึง
จ้าวน้ำเงิน เป็นแร่ธาตุกายสิทธิ์ เกิดอยู่ตามป่าลึก มีเนื้อสีขาวคล้ายเงินบริสุทธิ์สะอาด แต่อ่อน เนื้อคล้ายๆตะกั่ว ลักษณะขดเป็นขี้นกขนาดประมาณขี้นกพิราบหรือเขื่องกว่าเล็กน้อย พบมากแถวป่าทางจังหวัดสุพรรณบุรี
วิธีทดลองว่า เป็นจ้าวน้ำเงินแท้หรือเทียม ให้นำเงินเหรียญบาทของไทยคลุมทับจ้าวน้ำเงินหลายๆอัน แล้วใช้ขันหรือภาชนะครอบอีกที ทิ้งไว้ค้างคืน เวลาเช้าไปเปิดดู ถ้าเป็นจ้าวน้ำเงินแท้จะพลิกกลับมาอยู่ข้างบนของเหรียญบาททุกครั้งไป
2.เหล็กละลายตัว
เป็นแร่ธาตุที่เกิดอยู่ริมน้ำแฉะๆ หรือในน้ำเป็นส่วนใหญ่ จะทำให้น้ำมีรสเปรี้ยวจัด และน้ำคันเป็นอย่างมาก
ลักษณะเป็นก้อนเล็กบ้างเขื่องบ้างคล้ายก้อนหิน สีออกดำเงา ถ้าทำเป็นเกล็ดผงจะมีเงาเป็นมันเลื่อม มีพบทางจังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
3.ปรอทสะตุ
ปรอทสะตุของสมเด็จพระสังฆราช(แพ)ใช้หล่อพระกริ่ง จะมีคุณสมบัติพิเศษคือ ถูกความร้อนแล้วไม่หนี
จะผสมอยู่กับโลหะอื่น จะช่วยรักษาผิวพระกริ่งชั้นที่สอง อยู่กับผิวเงินเป็นส่วนใหญ่
4.ทองแดง
ในสมัยโบราณจะใช้ทองแดงเถื่อน เป็นก้อน เป็นทองแดงตามป่า มีทั้งก้อนใหญ่และก้อนเล็ก ในสมัยนี้หายาก ต้องใช้ทองแดงแท่งหรือทองแดงสานไฟฟ้าแทน เพราะมีส่วนเจือปนน้อยมาก
ไม่ใช้ทองแดงที่ขายตามท้องตลาด เพราะมีทองเหลืองปนด้วยจะทำให้พระกริ่งไม่กลับดำ
Credit
อ้างอิง
1.พระกริ่งเมืองสยาม โดย กิจจา วาจาสัจ
2.http://www.zaranar.com/?com=webboard&task=topic&id=11 โดย พระขรรค์โสฬส
3.http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=8425.0;wap2
4.นวโลหะ โดยชมรมสี่ธาตุ
http://www.dd-pra.com
5.พระกริ่ง5วาระ โดยนิรันตร์ แดงวิจิตร
โทร:
ราคา: 0 บาท
หมวดพระ: บทความ-บทความ