จำนวนคนอ่านล่าสุด 1215 คน

หลวงพ่อเจียม วัดกำแพง


หลวงพ่อเจียม วัดกำแพง


รายละเอียด :

ประวัติโดยย่อ

หลวงพ่อเจียม วัดกำแพง ท่านเป็นชาวเมืองชลโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีเถาะ ร.ศ.๗๔ (พ.ศ.๒๓๙๘) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ อุปสมบท ณ วัดกพแพง ชลบุรี เมื่อพ.ศ.๒๔๑๙ ได้รับตำแหน่งเจ้าคณะแขวง หรือเจ้าคณะอำเภอเมืองชลบุรี พ.ศ.๒๔๔๒ และพระครูเจียม ในปีเดียวกันดำรงตำแหน่งเจ้าคณะรองเมือง หรือรองเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ที่พระครูชลธารมุนี พ.ศ.๒๔๔๖ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ที่พระครูชลโธปมคุณมุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองชลบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธิ์ พ.ศ.๒๔๔๙ ท่านสร้างวัตถุมงคลที่นับว่าเป็น หนึ่งในห้าแห่งพระปิดตาเบญจภาคีของประเทศไทย ไว้เป็นมรดกแก่สาธุชนรุ่นหลัง ด้วยรูปแบบศิลปะพิมพ์ทรงสวยงามไม่เหมือนใคร (พระปิดตาพิมพ์โยงก้น) เนื้อผงคลุมรักจุ่มรัก เนื้อพระละเอียดแน่นสีน้ำตาลอมเหลือง พิมพ์มหาอุตม์ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก หลังยันต์อุใหญ่ หลังยันต์อุเล็ก และพิมพ์ ที่หายากที่สุดคือพิมพ์มีกริ่ง ด้วยอิทธิบารมีคุณวิเศษที่ร่ำลือกว่าหลวงพ่อเจียมเป็นพระสงฆ์ผู้แก่กล้าวิชาคาถาอาคมและ พุทธคม พระปิดตาหลวงพ่อเจียม วัดกำแพง จึงเป็นวัตถุมงคลระดับแนวหน้า เป็นที่ใฝ่ฝันของคนรุ่นหลัง เสาะแสวงหาได้เป็นเจ้าของ หลวงพ่อเจียมมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๕๔ ในสมัยราชการที่ ๖ สิริอายุ ๕๖ ปี

วัตถุมงคลที่หลวงปู่เจียมสร้างมีหลายประเภท แต่ที่ขึ้นชื่อลือชา คือ พระปิดตา ที่ทำจากเนื้อผงที่เป็นสูตรเฉพาะของท่านเอง มีอาทิ ผงพุทธคุณ ผสมเกสรดอกไม้ ว่าน ฯลฯ จัดสร้างด้วยความละเอียดอ่อนและพิถีพิถัน โดยนำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้ารวมกัน แล้วกรองเพื่อให้ได้เนื้อมวลสารที่ละเอียดและบริสุทธิ์ เนื้อขององค์พระจึงละเอียดแน่น มีสีออกน้ำตาลอมเหลือง จัดสร้างเป็นเนื้อผงคลุกรัก และเนื้อผงทารัก 


หลวงปู่เจียมสร้างพระปิดตาไว้หลายแบบหลายพิมพ์ ซึ่งล้วนเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมทั้งสิ้น โดยแต่ละพิมพ์จะมีจำนวน การสร้างไม่มากนัก ด้วยข้อจำกัดในการสร้างที่ละเอียดอ่อนและพิถีพิถันของท่าน ทั้งการผสมเนื้อหามวลสาร รวมถึงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับฤกษ์พานาทีที่เป็นมงคล ต้องสมบูรณ์ตามพิกัดเวลา ทั้งฤกษ์บน-ฤกษ์ล่าง-ฤกษ์การบรรจุอิทธิคุณ นั่นเอง 

กระบวนการผลิตพระปิดตาของหลวงปู่เจียม จะมีแม่พิมพ์ด้านหน้าด้านเดียว ส่วนด้านหลังจะประทับด้วย "ยันต์" ซึ่งมีลักษณะ ใกล้เคียงกับยันต์ที่ใช้ในพระปิดตาหลวงพ่อภู่ วัดนอก ก็คือ ยันต์ "อุใหญ่" ซึ่งลักษณะเป็น "อุขึ้น-อุลง" ที่เรียกกันว่า "อุชี้ฟ้าชี้ดิน" นอกจากนี้ยังมี ยันต์ "อุเล็ก" ประทับด้วย โดยสามารถจำแนกพิมพ์ได้ดังนี้ 


1.พิมพ์ปิดตามหาอุตม์ (พิมพ์ปิดตาโยงก้น) เป็นพระปิดตาในลักษณะปิดทวารทั้ง 9 คือ นอกจากยกพระหัตถ์ขึ้นไปปิดพระพักตร์แล้ว ยังมีอีก 2 พระหัตถ์ ขึ้นไปปิดกรรณทั้ง 2 ข้าง และอีก 2 พระหัตถ์ ล้วงลงไปปิดทวารด้านล่าง มีทั้ง พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และ พิมพ์เล็ก ด้านหลังเป็นแบบหลังยันต์ มีทั้งหลังยันต์อุใหญ่ และหลังยันต์อุเล็ก บางองค์มีการบรรจุเม็ดกริ่ง ซึ่งหาได้ยากมาก 


2.พิมพ์ปิดตา 2 มือ มีลักษณะคล้าย พระปิดตาของหลวงปู่ภู่ วัดนอก ในวงการจึงเรียก "พิมพ์เจียมภู่"


3.พิมพ์ปิดตา 2 หน้า ด้านหนึ่งจะเป็นพิมพ์ปิดตามหาอุตม์ หลวงปู่เจียม ส่วนอีกด้านจะคล้ายพิมพ์พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ วงการพระจึงเรียกกันว่า "พิมพ์แก้วเจียม" 


พระปิดตาของหลวงปู่เจียมนั้นนอกจากพุทธศิลปะและเนื้อหามวลสารที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แล้ว ด้านพุทธคุณยัง เป็นเอกเป็นที่ปรากฏแก่ผู้บูชา ทั้งเมตตามหานิยม โภคทรัพย์ โชคลาภ และแคล้ว คลาดคงกระพันชาตรี ครบเครื่องครบครัน ทำให้ได้รับความนิยมและแสวงหาอย่างสูง แต่ด้วยจำนวนพระที่สร้างน้อย



Cr. ข่าวสดรายวัน วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9288 พันธุ์แท้พระเครื่อง ราม วัชรประดิษฐ์

***********************************

‪#‎ประวัติหลวงปู่เจียม‬ วัดกำแพง จ.ชลบุรี 
ท่านเป็นหนึ่งในห้าเสือพระปิดตาปิดตายอดนิยมเมืองชลบุรี
วัดกำแพง ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๔๒๐/๒๓ ถ.สาครพิทักษ์ ต.มะขามหย่ง อ.เมือง จ.ชลบุรี (อยู่ในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี) สังกัด คณะสงฆ์มหานิกาย
วัดกำแพง เป็นวัดที่ประชาชนเรียกกันตามสภาพแวดล้อมเพราะมีกำแพงล้อมรอบวัดมาตั้งแต่ สมัยโบราณ วัดนี้สร้างขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ชลบุรีในสมัยนั้นยังเป็นเมืองเล็กๆ ชายทะเล มีประชากรไม่มากนัก ตามข้อสันนิษฐานเข้าใจว่าวัดนี้คงจะสร้างในบริเวณบ้านเก่าของเศรษฐีชาวจีน หรือเจ้านายชั้นสูงที่มีเชื้อสายจีน เพราะมีอาณาบริเวณเป็นขอบเขต มีกำแพงเก่าเตี้ยๆมีซุ้มประตูจีนและอยู่ในย่านของชุมชนชาวจีนใกล้หนองน้ำที่เรียกว่า หนองต้นโพธิ์
การสร้างวัด ได้รับคำบอกเล่าต่อๆกันมาว่า หลวงพ่อโตเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านเป็นชาวเพชรบุรีเป็นพระธุดงค์มาจากเพชรบุรี พร้อมด้วยหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ และหลวงพ่อภู่ วัดนอก ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณร ได้เข้ามาปักกรดปฏิบัติธรรมในบริเวณหนองต้นโพธิ์ ภายหลังได้ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนาขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๔-๒๓๗๑ ต่อมาภายหลังจึงได้จัดสร้างเป็นวัดชื่อว่า วัดกำแพง
วัดกำแพงแห่งนี้เริ่มสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๐๖ เนื้อที่ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ปัจจุบันเนื้อที่ตั้งวัดมีทั้งหมด ๕ ไร่ มีที่ธรณีสงฆ์ ๖๕ ไร่ เป็นที่ดินมีโฉนดแล้ว
ลำดับเจ้าอาวาสวัดกำแพง ชลบุรี จนถึงปัจจุบัน
๑ หลวงพ่อโต
๒ หลวงพ่อยิ้ม
๓ พระครูชลโธปมคุณมุนี (หลวงพ่อเจียม)
๔ พระอธิการหมอน
๕ พระครูอุดมวิชชากร (เหมือน)
๖ พระครูวัลลภวุฒิคุณ (ทวีป)
๗ พระมหาวิโรจน์ อิสสโร
๘ พระครูวินัยธร ปฏิพล ถาวโร
(ข้อมูลทะเบียนวัดของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ฉบับพิมพ์เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๗)
พระครูชลโธปมคุณมุนี (เจียม) หรือหลวงปู่เจียม วัดกำแพง นับเป็นพระสังปาโมกข์ผู้ทรงคุณบารมียิ่งใหญ่ท่านหนึ่งแห่งเมืองชลบุรีที่ได้รับการยกย่องสูงสุดจากคณะสงฆ์ทั้งจังหวัด และเป็นที่เลื่อมใสในศรัทธามหาชนทั้งหลาย โดยเฉพาะพระพุทธประติมากรรมรูปพระปิดตาของท่านนั้นสุดเลอเลิศในศิลปะ เป็นหนึ่งไม่มีสอง จัดว่าเป็นโครงสร้างในแม่พิมพ์ประปิดตามหาอุตม์ที่พัฒนาถึงจุดสูงสุดของท่านเป็น เอกลักษณ์ไม่เหมือนใครในชลบุรี
‪#‎หลวงปู่เจียม‬ วัดกำแพง ท่านเป็นชาวชลบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยปรากฏหลักฐานเป็นบัญชีตรวจการณ์คณะสงฆ์ในแขวงเมืองชลบุรี ปี ร.ศ. 118 ระบุนามเจ้าอธิการเจียม พรรษา 22 อายุ 44 เป็นอุปัชฌาย์วัดกำแพง และในหนังสือ ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 126 บรรจุพระนามพระสงฆ์ที่ได้รับตำแหน่งสมณศักดิ์ให้พระครูเจียม วัดกำแพงเป็นพระครูชลโธปมคุณมุนี ที่สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่ เมืองชลบุรี
หลวงปู่เจียมได้สงเคราะห์ญาติโยมพุทธศาสนิกชนและเป็นเสาหลักแห่งคณะสงฆ์มาอย่างยาวนาน จวบจนวันที่ 25 พ.ย. 2454 อันเป็นปีที่ 2 แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงมรณภาพ
พระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพงคือเพชรน้ำเอกแห่งสุดยอดพระปิดตาภควัมปติ จัดอยู่ลำดับ 4 แห่งสุดยอดพระปิดตาเมืองชลลุรีที่มีอายุยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน 100 กว่าปีแล้ว ถือเป็นวัตถุธรรมอันล้ำค่าที่หลวงปู่เจียมท่านได้สร้างไว้หลายแบบพิมพ์ ซึ่งแต่ละพิมพ์นั้นจัดเป็นพิมพ์นิยมทั้งสิ้น แม้จะมีมากพิมพ์ก็จริงอยู่แต่ปริมาณการสร้างนั้นกลับจำนวนไม่มากนักเพราะด้วยข้อจำกัดในการสร้างพระที่ละเอียดอ่อนพิถีพิถันของท่าน ทั้งการผสมเนื้อหามวลสารรวมทั้งการให้ความสำคัญอย่างสูงเกี่ยวกับเรื่องของฤกษ์พานาทีที่เป็นมงคล ที่ต้องสมบูรณ์ตามพิกัดเวลา ทั้งฤกษ์บน ฤกษ์ล่าง พร้อมทั้งการบรรจุอิทธิคุณอย่างเข้มขลังขององค์ท่าน ภายใต้ขั้นตอนอย่างนี้ทำให้พระที่ท่านสร้างแต่ละพิมพ์นั้นมีน้อยมาก
แต่ด้วยอิทธิบารมีคุณวิเศษที่ปรากฏอานุภาพไพศาลเป็นที่ประจักษ์ชัดซึ่งย้ำเน้นให้บังเกิดความ เชื่อมั่นในจิตใจอย่างแรงกล้า จึงไม่แปลกเลยที่พระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพงจึงเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วแผ่นดิน
หลวงปู่เจียม วัดกำแพงท่านได้สร้างพระปิดตาไว้หลายแบบพิมพ์ แต่มีแม่พิมพ์หลักที่วงการนิยมสูงสุดคือ
1. พระปิดตามหาอุฒม์ พิมพ์ใหญ่
2. พระปิดตามหาอุฒม์ พิมพ์เล็ก
3. พระปิดตา (2 มือ) พิมพ์เจียม-ภู่
ลักษณะกระบวนการผลิตพระปิดตาของหลวงปู่เจียม วัดกำแพงจะประกอบไปด้วยโครงสร้างที่เป็นแม่พิมพ์ด้านหน้าด้านเดียว ส่วนด้านหลังท่านประทับด้วยยันต์ ซึ่งยันต์ที่ท่านใช้จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับยันต์ที่ใช้ใน พระปิดตาหลวงพ่อภู่ วัดนอก ก็คือท่านใช้ยันต์ “อุใหญ่” ซึ่งเป็นลักษณะของยันต์ “อุขึ้น-อุลง” ที่เรียกกันว่า “อุชี้ฟ้าชี้ดิน”
นอกจากเป็นยันต์อุใหญ่แล้วก็ยังมีการใช้ยันต์อุเล็กประทับด้วย ซึ่งถ้าเป็นพระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพงแล้วเป็นข้อสังเกตว่าจะต้องมียันต์ประทับด้านหลังทุกองค์
นอกจากสร้างเป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักแล้ว หลวงปู่เจียม ท่านยังได้สร้างพระปิดตาที่เป็นเนื้อ ชินตะกั่วด้วย
พระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียม วัดกำแพงพิมพ์ใหญ่ เป็นแม่พิมพ์หลักของท่านพิมพ์หนึ่ง พิมพ์นี้จะประกอบไปด้วยโครงสร้างแม่พิมพ์ที่ใช้กระบวนการผลิตแม่พิมพ์ด้านหน้าด้านเดียว ด้านหลังเรียบและปรากฏยันต์ซึ่งประทับอยู่ด้านหลัง ส่วนด้านข้างนั้นพระปิดตาหลวงปู่เจียมท่านจะมีการตัดพิมพ์ลักษณะของมุมฉาก มีมุมตัดเหลี่ยมแทบทุกองค์
พุทธลักษณะขององค์พระพิมพ์นี้จะเป็นพระปิดตาในลักษณะปิดทวารทั้ง 9 คือนอกจากยก 2 มือขึ้นไปปิดหน้าแล้วก็ยังมีมืออีก 2 ข้าง ขึ้นไปปิดหูซ้าย-ขวาและก็ยังมีอีก 2 มือ ล้วงลงไปปิดทวารด้านล่างจึง เรียกว่า “พระปิดตามหาอุต หรือมหาอุตม์” ซึ่งบางท่านอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระปิดตาหลวงปู่เจียม “พิมพ์โยงก้น”
พระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพงท่านได้สร้างพระพิมพ์นี้โดยมีเอกลักษณ์ในโครงสร้างแม่พิมพ์ที่เด่นล้ำที่สุดและไม่เหมือนใครนั่นก็คือ พระเศียรที่ค่อนข้างใหญ่โตมาก
ในจำนวนพระปิดตาเมืองชลบุรีด้วยกันแล้ว พระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียม วัดกำแพงพิมพ์ใหญ่นั้น พระเศียรของท่านค่อนข้างที่จะใหญ่โต ใหญ่มากกว่าทุก พิมพ์ของแต่ละพระเกจิอาจารย์ไม่ว่าจะเป็นพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ก็ดี พระปิดตาหลวงพ่อโต วัดเนินฯก็ดี เมื่อเทียบกันแล้วพระเศียรของพระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียม วัดกำแพงจะมีขยาดใหญ่กว่ามาก ซึ่งในกรณีที่พระไม่ได้ผ่านการใช้ก็จะนูนเกือบครึ่งวงกลมเลย แต่ถ้าผ่านการใช้มาแล้วก็จะสึกจนแบนราบไปบ้าง
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พระพิมพ์มหาอุตม์ของหลวงปู่เจียมวัดกำแพงนั้นเป็นพระพิมพ์ที่ท่านได้อาศัยเค้าแบบมาจากพระปิดตาหลวงพ่อภู่ วัดนอก แต่ท่านได้มาพัฒนาแม่พิมพ์ใหม่ให้มีความลงตัวให้มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ โดยท่านได้รวบรวมลักษณะเด่น ๆ ของแต่ละเกจิอาจารย์ไว้ในองค์เดียวกันอย่างเช่น ลักษณะของเศียรที่เป็นเศียรบาตรนี้เป็นเอกลักษณ์ของท่าน ส่วนหัวไหล่ก็ยังคงเป็นลักษณะของการแกะแม่พิมพ์ภายใต้ข้อนิยมของวัดเครือวัลย์ คือหัวไหล่ขวาจะสูงกว่าหัวไหล่ซ้าย และส่วนที่เป็น เอกลักษณ์พิเศษของท่านอีกอย่างหนึ่งนอกจากเศียรบาตรใหญ่แล้วก็คือ ท่านยังได้เพิ่มแขนขึ้นอีก 2 ข้าง ขึ้นมาปิดหู ซึ่งลักษณะของการติดตั้งของแขนด้านซ้ายและด้านขวา จะอยู่ชิดผนังในองค์ที่ชัดเจน จะปรากฏนิ้วมืออยู่ด้านข้างส่วนลักษณะของแขนจะโค้งยาวเรียวได้สัดส่วน
พระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียมวัดกำแพง พิมพ์ใหญ่ก็ดีพิมพ์เล็กก็ดี แขนจะโค้งได้สัดส่วนอีกจุดหนึ่งซึ่งถือเป็นจุดที่ต้องพิจารณาก็คือ ในช่วงท้องของท่านในพระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียม วัดกำแพงพิมพ์ใหญ่ ช่องท้องของท่านจะเป็นท้องที่กลมนูนแต่ไม่มาก เป็นลักษณะที่กลมนูนพอสมควรและยังมีมืออีก 2 มือ ที่มาล้วงมาปิดทวารด้านหน้า ข้อสังเกตของมือที่ปิดทวารด้านหน้านี้มีข้อแตกต่างกันคือ ด้านขวาจะหนาใหญ่กว่าด้านซ้ายเสมอ ตรงนี้เป็นข้อที่ต้องจดจำนะครับเป็นจุดที่สำคัญมาก
อีกจุดหนึ่งที่ถือว่าสำคัญมากก็คือ หัวเข่าด้านขวาและหัวเข่าด้านซ้าย หัวเข่าทั้งสองข้างของพระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียม วัดกำแพงพิมพ์ใหญ่จะไม่ปรากฏขาทั้งขาขวาและขาซ้าย เพราะว่ามามือทั้งสองข้างมาล้วงมาปิดอยู่ และมือทั้งสองข้างจะมีฝ่ามือที่ปิดมาถึงด้านใต้ชิดผนังด้านล่าง เพราะฉะนั้นตรงผนังด้านล่างนี้จะปรากฏนิ้วมือของพระอยู่ แต่ส่วนส่วนสำคัญกลับอยู่ที่หัวเข่าด้านซ้าย-ขวา ในพระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพงพิมพ์ใหญ่ ทุกองค์หัวเข่าข้างขวาจะยกสูงกว่าหัวเข่าด้านซ้ายเหมือนกับหัวไหล่ขวาที่ยกสูงกว่าไหล่ซ้าย ซึ่งเมื่อเรามองจากด้านล่าง เราจะมองเห็นทันทีว่าหัวเข่าด้านขวานอกจากจะสูงกว่าด้านซ้ายแล้วยังมีความใหญ่กว่าด้านซ้ายอีกด้วย ตรงนี้เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่เราจะใช้พิจารณาพระปิดตามหาอุตม์ หลวงปู่เจียม วัดกำแพง พิมพ์ใหญ่เพราะจุดเด่นตรงนี้เขาเรียกกันว่า “เอกลักษณ์ในพิมพ์” นี่คือลักษณะพิเศษของโครงสร้างแม่พิมพ์พระปิดตาหมาอุตม์หลวงปู่เจียม วัดกำแพง พิมพ์ใหญ่ที่ถือว่าเป็นพิมพ์มาตรฐานพิมพ์หนึ่ง
ทีนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องของลักษณะเนื้อหากันล้าง สำหรับเนื้อหาของพระปิดตามหาอุตม์ หลวงปู่เจียม วัดกำแพง พิมพ์ใหญ่เป็นพระที่ใช้ผงผสมเกสรดอกไม้ผสมว่านแล้วกรองละเอียด แล้วนำผงที่ได้ทั้งหลายทั้งปวงนี้มาคลุกด้วยรักน้ำเกลี้ยง ซึ่งมีลักษณะขาวใส ข้น คลุกเคล้าให้เข้ากัน นวดจนกระทั่งเหนียวได้ที่ดีแล้วจึงนำมากดกับแม่พิมพ์เป็นรูปองค์พระปิดตา แล้วนำยันต์มาประทับด้านหลังซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว พระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียม ในกรณีที่เป็น “พิมพ์ใหญ่” นั้นด้านหลังส่วนใหญ่มักจะพิมพ์ด้วยยันต์ “อุเล็ก” แต่ในบางองค์ก็สามารถพบพระที่ประทับด้วยยันต์ “อุใหญ่” ด้วยเช่นกัน นอกจากองค์พระในรายละเอียดต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ส่วนสำคัญอีกจุดหนึ่งในการพิจารณาพระปิดตามหาอุตม์ หลวงปู่เจียม วัดกำแพงก็คือด้านข้างของพิมพ์พระ ซึ่งในด้านข้างพระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพงพิมพ์ใหญ่นี้ จะถูกตัดเป็นมุมเป็นเหลี่ยมเสมอกันหมด ไม่เหมือนกับลักษณะของพระปิดตาหลวงพ่อโต วัดเนินสุทธาวาสซึ่งเป็นลักษณะของไข่ผ่าซีกขอบจะเป็นสันคม แต่ในพระปิดตาหลวงปู่เจียมด้านข้างจะเป็นสันเหลี่ยมหนา
นอกจากองค์พระแล้วสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือตัว “ยันต์” ที่ปรากฏอยู่ด้านหลัง ตัวยันต์ไม่ว่ายันต์อุใหญ่ก็ดี ยันต์อุเล็กก็ดี โครงสร้างของยันต์ต้องถูกต้องตามแบบของท่าน โครงสร้างของยันต์ต้องถูกต้องตามแบบของท่าน โครงสร้างของตัวยันต์เป็นจุดที่มาตรฐานแบบหนึ่งในการที่เราใช้พิจารณา
ในส่วนของรัก ในพระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียม วัดกำแพง พิมพ์ใหญ่เราจะเห็นรักที่ทาตรงนี้เป็นรักแดง ทีเราเรียกว่า “รักแดงจีน” ซึ่งเกิดจากส่วนผสมของรักน้ำเกลี้ยงนำมาผสมกับ “ชาดจอแส” เราจึงได้รักแดงและรักชนิดนี้เราจะพบในพระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียม วัดกำแพง พิมพ์ใหญ่มากที่สุดเพราะฉะนั้นการที่เราได้พบรักแดงตัวนี้ก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่เราจะพิจารณาได้ถึงความถูกต้อง ถึงโครงสร้างแม่พิมพ์และธรรมชาติที่เกิดขึ้น ส่วนธรรมชาติอีกประการหนึ่งที่พบในพระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพงพิมพ์ใหญ่ก็คือ “รอยราน” ซึ่งอาจเรียกว่า “ใยรากผักชี” หรือ “รอยใยแมงมุม” รอยรานตัวนี้เกิดกับพระที่มีความหนึกนุ่มจัด ในกรณีที่พระมีส่วนผสมของเกสรดอกไม้ มีส่วนผสมของผงสูงและมีรักปกคลุมไว้เมื่อใดก็ตามที่รักบริเวณนั้นร่อนกะเทาะหลุดออก เราจะสังเกตเห็นรอยสั่นรานบนพื้นผิว ซึ่งลักษณะของรอยลั่นรานดังกล่าว เป็นรอยที่มีความละเอียดเบา แผ่วพลิ้ว เกาะอยู่ตามพื้นผิวพระทั่ว ๆ ไป ซึ่งเราจะพบลักษณะอย่างนี้ในพระหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ หลวงพ่อโตวัดเนิน หลวงพ่อภู่ วัดนอก รวมทั้งในพระปิดตาหลวงปู่เจียมก็เช่นเดียวกัน ด้วยเป็นพระที่สร้างมานานผ่านกาลเวลามาถึงร้อยปีเศษ ดังนั้นธรรมชาติของเนื้ออย่างนี้จึงทำให้ปรากฏเป็นรอยรานดังกล่าวอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวพระ
รอยรานที่ว่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของรัก ซึ่งเกิดจากความชื้นที่อยู่ในเนื้อพระระเหิดออกมา แล้วออกไปไม่ได้เพราะว่ามีรักปกคลุมปิดอยู่ที่พื้นผิว เมื่อความชื้นไม่สามารถระเหยออกไปได้หมดก็จะทำปฏิกิริยาดันผิวเนื้อจริงที่อยู่ติดกับรักเพื่อจะหาทางออกไปนั้น ดังนั้นด้วยแรงดันจากปฏิกิริยาดังกล่าว จึงทำให้เกิดรอยลั่นรายเป็นเส้นใยแมงมุม ซึ่งเมื่อเนื้อพระเกิดการลั่นรานแล้วตัวรักหรือสิ่งที่ปกคลุมพื้นผิวก็จะแทรกซึมเข้าไปในรอยรานนั้น ทำให้เราเห็นเป็นใยสายเลือดเบา ๆ ในพื้นผิว รอยรานดังกล่าวจะเป็นลักษณะของเส้นฝอยบาง ๆ เบา ๆ ไม่ใช่ลักษณะการแตกลายงาหรือเป็นร่องหนา ซึ่งนี้ก็เป็นจุดที่ต้องพิจารณาอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน
ขอสรุปเน้นย้ำอีกครั้งสำหรับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งในหลาย ๆ จุดที่ละเลยไม่ได้สำหรับการพิจารณาพระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียมวัดกำแพง พิมพ์ใหญ่ สิ่งที่ต้องถือเป็นข้อจดจำในการพิจารณาก็คือรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงสร้างแม่พิมพ์ ตั้งแต่เศียรลงมาจนถึงขาด้านล่าง เศียรต้องเป็นเศียรบาตรใหญ่ ๆ มือที่วิ่งมาปิดตาทั้งมือขวาและมือซ้าย จะมาหยุดอยู่ตรงบริเวณใต้คางขององค์พระ แต่ก่อนที่จะมาหยุดตรงจุดนี้ มือทั้ง 2 ข้างจะยังไม่รวมกัน ยังเป็นข้างขวา-ข้างซ้ายอยู่ แต่พอมาถึงบริเวณใต้คาง ทั้งแขนซ้ายและแขนขวาจะมารวมกัน แล้ววิ่งยาวขึ้นไปเป็นลักษณะของนิ้วมือ ซึ่งจะปรากฏนิ้วมือให้เห็นอย่างชัดเจนในองค์ที่ติดมาพิมพ์ชัด ๆ
จุดที่สำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดีก็คือหัวไหล่และแขนที่วางต้องโค้งได้สัดส่วนทั้งซ้าย-ขวา ในองค์ที่ชัดจะมือที่ยกขึ้นปิดหูจะปรากฏนิ้วมือติดผนัง จุดที่ท้องก็ถือว่าเป็นจุดสำคัญจะเป็นเนินไม่ใหญ่ไม่เล็ก ขนาดกำลังเหมาะสมน่ารักและอีกจุดในการพิจารณาก็คือ มือทั้งสองที่ล้วงมาปิดทวารด้านล่างมือด้านขวาจะหนาใหญ่กว่าด้านซ้ายเสมอ หัวเข่าด้านขวาเมื่อมองในลักษณะของมิติด้านหน้า เข่าด้านขวาจะอยู่สูงกว่าเข่าด้านซ้าย และเมื่อเรามองจากด้านล่างขององค์พระในกรณีที่วางพระในแนวระนาบ เราจะเห็นความสูงของเข่าด้านขวาสูงกว่าด้านซ้ายเสมอ เพราะฉะนั้นในการพิจารณาพระปิดตามหาอุตม์หลวงปู่เจียม วัดกำแพงพิมพ์ใหญ่ เราต้องพิจารณาภายใต้ระบบตรงนี้จึงจะถือว่าถูกต้องครับ
ข้อมูลประวัติเกิดปีเถาะ ร.ศ.74 ตรงกับปี พ.ศ.2398ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี ตรงกับปีพ.ศ.2420 หลวงปู่เจียม มรณภาพเมื่อ ปีพ.ศ.2454 รวมสิริอายุ 56 ปี 34 พรรษา
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมของท่านที่ขึ้นชื่อ คือ พระปิดตา สามารถจำแนกลักษณะเนื้อพระไว้ 2 ชนิด คือ เนื้อผงคลุกรัก ทารัก และเนื้อผงทารัก สำหรับพิมพ์สามารถจำแนกได้ดังนี้ พระปิดตาโยงกัน พิมพ์ใหญ่ หลังยันต์ อุใหญ่-อุเล็ก พระปิดตาโยงกัน พิมพ์กลาง หลังยันต์อุใหญ่-อุเล็ก พระปิดตาโยงกัน พิมพ์เล็ก หลังยันต์อุใหญ่ (บางองค์มีกริ่ง ถือว่าเป็นพิมพ์หายาก) พิมพ์สองมือ และพิมพ์สองหน้า พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมาวัตถุมงคลท่านเด่นทางด้าน เมตตามหานิยมและโภคทรัพย์ สูงมาก
‪#‎คาถาบูชาพระปิดตา‬...ตั้งนโม3จบ
"อิติปาระมิตตาติงสา อิติสัพพัญญะมาคะตา 
อิติโพธิมะนุปปัตโต อิติปิโสจะเตนะโม"
วันนี้ขออัญเชิญพระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพง จ.ชลบุรี พิมพ์ใหญ่หลังยันต์ มาโปรดคุ้มครองอๆนวยพรมงคลแก่ทุกๆท่านนะครับ
.....ขอขอบพระคุณเจ้าของเนื้อเรื่องและภาพประกอบจากทุกๆแห่งเพื่อการศึกษา

โทร: 

ราคา: 0 บาท

หมวดพระ: พระยอดนิยมทั่วไป-พระปิดตา-พระขุนแผน

0 ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบ ไม่สามารถโพสบทความหรือแสดงความคิดเห็นได้ เข้าสู่ระบบ